บทที่ 2 แหล่งสารสนเทศ

แผนบริหารการสอนประจำบทที่  2

หัวข้อเนื้อหา
แหล่งบริการสารสนเทศ
1. ความหมายและประเภท 
2. สถาบันบริการสารสนเทศ 
3. งานบริการสารสนเทศ
4. สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
1. สามารถอธิบายความแตกต่างระหว่างแหล่งสารสนเทศแต่ละประเภทได้
2. สามารถอธิบายลักษณะงานบริการสารสนเทศในแต่ละงานได้
3. สามารถอธิบายระเบียบการใช้บริการสารสนเทศในสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาได้
4. สามารถอธิบายบริการสารสนเทศที่มีในสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาได้
วิธีสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
1. วิธีสอน
1.1 การบรรยายประกอบการนำเสนอด้วยคอมพิวเตอร์
1.2 นำชมสำนักวิทยบริการวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
1.3 อภิปรายร่วมกันในชั้นเรียน
2. กิจกรรมการเรียนการสอน
2.1 ทำแบบทดสอบก่อนเรียน
2.2 ศึกษาเอกสารประกอบการสอนประจำบท
2.3 แบ่งกลุ่มสำรวจการจัดระบบทรัพยากรห้องสมุดสำนักวิทยบริการฯ
2.4 นำเสนอผลการสำรวจและอภิปรายแสดงความคิดเห็น
2.5 สรุปเพิ่มเติมสาระสำคัญ
2.6 ทำแบบฝึกหัดท้ายบท
สื่อการเรียนการสอน
1. เอกสารประกอบการสอน
2. สไลด์มัลติมีเดียประกอบการบรรยาย
3. สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ   มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
4. แบบฝึกหัดท้ายบท
การวัดผล
1. สังเกตจากการตอบคำถาม
2. สังเกตจากการแสดงความคิดเห็น
3. สังเกตจากการทำกิจกรรมกลุ่ม
4. ตรวจการทำแบบฝึกหัด

บทที่ 2
แหล่งบริการสารสนเทศ

เนื้อหาในบทเรียนนี้ ครอบคลุมถึงความหมายและประเภท  สถาบันที่ให้บริการสารสนเทศ  และบริการสารสนเทศแบบต่าง ๆ ที่สถาบันสารสนเทศแต่ละประเภทจัดให้บริการ  รวมทั้งแนะนำสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา  เพื่อให้นักศึกษาได้ทำความเข้าใจถึงลักษณะและบริการของสถาบันสารสนเทศประเภทต่าง ๆ      รวมทั้งการให้บริการของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เพื่อจะได้ใช้เป็นแหล่งค้นคว้าสารสนเทศต่อไป

ความหมายและประเภท
แหล่งสารสนเทศ (information sources) หมายถึง  แหล่งที่มา  แหล่งผลิต แหล่งเผยแพร่และให้บริการสารสนเทศ  ซึ่งอาจเป็นบุคคล  สื่อมวลชน และสถาบันบริการสารสนเทศ   แหล่งสารสนเทศแยกประเภทตามที่มาและลำดับการผลิต  แบ่งได้เป็น  3  ประเภทคือ
1. สารสนเทศปฐมภูมิ (primary sources)  หมายถึง  สารสนเทศที่เรียบเรียงขึ้นจากประสบการณ์ของผู้เขียน หรือเป็น ผลการค้นคว้าวิจัย  นำเสนอความรู้ใหม่ ๆ  ได้แก่  รายงานการวิจัย วิทยานิพนธ์  เอกสารการปฏิบัติงาน  รายงานการประชุมทางวิชาการ   บทความวารสารวิชาการ   เอกสารสิทธิบัตร   เอกสารมาตรฐาน  เอกสารจดหมายเหตุ
2. สารสนเทศทุติยภูมิ (secondary sources) หมายถึง  สารสนเทศที่ได้จากการนำสารสนเทศปฐมภูมิมาสังเคราะห์และเรียบเรียงขึ้นใหม่  เพื่อเสนอข้อคิดหรือแนวโน้มบางประการ  ได้แก่  หนังสือทั่วไป  หนังสือตำรา  หนังสือคู่มือการทำงาน   รายงานความก้าวหน้าทางวิทยาการ  บทคัดย่องานวิจัย บทวิจารณ์หนังสือ  วารสารสาระสังเขป เป็นต้น
3. สารสนเทศตติยภูมิ (tertiary sources) หมายถึง สารสนเทศที่ชี้แนะแหล่งที่อยู่ของสารสนเทศปฐมภูมิและทุติยภูมิ  จะให้ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสารสนเทศ  ได้แก่หนังสือนามานุกรม  บรรณานุกรม  และดัชนีวารสาร เป็นต้น  
แหล่งสารสนเทศมีความสำคัญต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูล  ในการอ้างอิงทางวิชาการถือว่าสารสนเทศจากแหล่งปฐมภูมิเป็นสารสนเทศที่ดี  มีความน่าเชื่อถือในเรื่องความถูกต้องตามข้อเท็จจริงมากกว่าสารสนเทศทุติยภูมิและสารสนเทศตติยภูมิ

สถาบันบริการสารสนเทศ
สถาบันบริการสารสนเทศ  หมายถึงองค์การที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้บริการสารสนเทศตามความต้องของผู้ใช้  ซึ่งจำแนกได้หลายประเภทตามขอบเขต   หน้าที่และวัตถุประสงค์  ได้แก่ (ชุติมา  สัจจานันท์,  2531) 
1. ห้องสมุดหรือหอสมุด  (library)
ห้องสมุดเป็นแหล่งสะสมทรัพยากรสารสนเทศทั้งที่เป็นวัสดุตีสิ่งพิมพ์และวัสดุไม่ตีพิมพ์   มีบริการครอบคลุมหลายด้าน  แต่ส่วนใหญ่เน้นบริการด้านการอ่าน  บริการยืม – คืน  และบริการช่วยการค้นคว้า      ห้องสมุดจำแนกตามวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายในการจัดตั้ง แบ่งได้เป็น  5  ประเภทได้แก่
1.1 ห้องสมุดโรงเรียน (school library)  จัดตั้งขึ้นในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา  เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการ  อำนวยความสะดวกด้านการศึกษาค้นคว้าของนักเรียน   และจัดบริการสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการสอนของครูอาจารย์  ห้องสมุดโรงเรียนบางแห่งได้รับการจัดให้เป็นศูนย์สื่อการศึกษานอกเหนือจากการบริการด้านสื่อสิ่งพิมพ์
1.2 ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (academic library)   เน้นการให้บริการสารสนเทศครอบคลุมทุกสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันต้นสังกัดเปิดทำการสอน   เพื่อสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยของนักศึกษาและอาจารย์   ในปัจจุบันห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาใช้ชื่อเรียกต่างกันไปเช่น    สำนักหอสมุด   สำนักบรรณสาร   สำนักวิทยบริการ   ศูนย์บรรณสาร  และศูนย์สื่อการศึกษา  เป็นต้น
1.3 ห้องสมุดเฉพาะ (special library)  เน้นให้บริการสารสนเทศเฉพาะสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันต้นสังกัด   มักสังกัดอยู่กับสมาคม  หน่วยงานทางวิชาการ หรือสถาบันทางวิชาการเฉพาะด้าน  เช่น  ห้องสมุดธนาคาร   ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์  ห้องสมุดสมาคมวิชาชีพ เป็นต้น 
1.4 ห้องสมุดประชาชน (public library)    เป็นห้องสมุดที่รัฐให้การสนับสนุน  จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งสารสนเทศของชุมชน  ให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปทุกระดับอายุและระดับการศึกษา  ทรัพยากรสารสนเทศและกิจกรรมที่จัดขึ้นมุ่งที่ประโยชน์ของประชาชน  ห้องสมุดประชาชนมีให้บริการทุกจังหวัดทั่วประเทศ
1.5 หอสมุดแห่งชาติ (national library)  เป็นแหล่งเก็บรวบรวมและบำรุงรักษาทรัพยากรสารสนเทศของชาติ ทั้งที่เป็นหนังสือต้นฉบับตัวเขียน  เอกสารโบราณและจารึก  สื่อสิ่งพิมพ์  สื่อโสตทัศนวัสดุ  สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตขึ้นในประเทศและต่างประเทศ   ให้บริการการอ่าน   ศึกษาค้นคว้าและวิจัยแก่ประชาชนเพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาตามอัธยาศัย 
หอสมุดแห่งชาติทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานระบบสารนิเทศทางวิชาการแห่งชาติได้แก่   ศูนย์ข้อมูลวารสารระหว่างชาติแห่งประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้    ศูนย์กำหนดเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (International Standard Book Number – ISBN)  และเลขมาตรฐานสากลประจำวารสาร (International Standard Serial Number – ISSN)   ศูนย์กำหนดรายละเอียดทางบรรณานุกรมของหนังสือที่จัดพิมพ์ในประเทศ    ศูนย์กลางแลกเปลี่ยนและยืมสิ่งพิมพ์ในระดับชาติและนานาชาติ    ศูนย์รวบรวมสิ่งพิมพ์ขององค์กรสหประชาชาติ    และจัดทำบรรณานุกรมแห่งชาติ    
หอสมุดแห่งชาติปัจจุบันตั้งอยู่ที่ท่าวาสุกรี    ถนนสามเสน   เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร  สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม   และมีสาขาให้บริการในต่างจังหวัด เช่น
ภาคกลาง ได้แก่  หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ  หอสมุดแห่งชาติอินทร์บุรี สิงห์บุรี   หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษกกาญจนบุรี  และหอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรีเฉลิมพระเกียรติ
ภาคเหนือ  ได้แก่  หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษกเชียงใหม่   และหอสมุดแห่งชาติลำพูน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่   หอสมุดแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา   หอสมุดแห่งชาติประโคนชัย จ.บุรีรัมย์   และหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ นครพนม
ภาคตะวันออก   ได้แก่ หอสมุดแห่งชาติ ชลบุรี     และหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี
ภาคใต้ ได้แก่  หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช   หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษกสงขลา  หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถสงขลา   หอสมุดแห่งชาติวัดดอนรัก จ.สงขลา   หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถตรัง  และหอสมุดแห่งชาติวัดเจริญสมณกิจภูเก็ต
2. ศูนย์สารสนเทศหรือศูนย์เอกสาร  (information center or documentation center)
ศูนย์สารสนเทศหรือศูนย์เอกสารเป็นหน่วยงานให้บริการสารสนเทศเฉพาะด้าน   แก่ผู้ใช้เฉพาะกลุ่มสาขาวิชาหรือสาขาวิชาชีพ  เช่น  นักวิทยาศาสตร์  นักวิจัย  มีลักษณะคล้ายห้องสมุดเฉพาะ     ให้ข้อมูลที่จัดทำขึ้นโดยศูนย์สารสนเทศหรือศูนย์เอกสารนั้น เช่น ข้อมูลสถิติ  ตัวเลข  รายงานการวิจัย  สาระสังเขปและดัชนี วารสารเฉพาะวิชา    ศูนย์นี้โดยทั่วไปมักแบ่งงานออกเป็น  3  ฝ่าย  ได้แก่  ฝ่ายห้องสมุด  ฝ่ายการเอกสาร  และฝ่ายพิมพ์
ตัวอย่างของศูนย์สารสนเทศหรือศูนย์เอกสารได้แก่  ศูนย์บริการเอกสารการวิจัยแห่งประเทศไทย  (ศบอ.)    ศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี (Technical Information Access Center : TIAC)  สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ศูนย์บริการเอกสารการวิจัยแห่งประเทศไทยให้บริการสารสนเทศแก่นักวิจัย  ผลิตสื่อและเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีไทย ในรูปของสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์   ประสานงานและร่วมมือกับหอสมุด สถานศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ   และให้บริการค้นคว้าทำสำเนารายงาน FAO (Food and Agriculture Organization) ของ สหประชาชาติ ที่ ศบอ.เป็นตัวแทนรับฝากในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2509
เอกสารการวิจัยของ ศบอ.  เริ่มตีพิมพ์รายงานแต่ละโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ที่วิจัยโดยนักวิจัยของสถาบันฯเอง รวมถึงการวิจัยร่วมกับนักวิจัยต่างชาติจากหลาย ๆ ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) เป็นต้น มีผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมกว่า 2,000  ฉบับ ในหลากหลายกลุ่มสาขา เช่น  การถ่ายทอดเทคโนโลยี  การบรรจุหีบห่อ  การบริหารและการจัดการ   การพัฒนาบุคลากรและชุมชน  การวิจัยตลาดและธุรกิจ   เทคโนโลยีการก่อสร้าง   เทคโนโลยีการเกษตร  เทคโนโลยีชีวภาพ  เทคโนโลยีพลังงาน  เทคโนโลยีวัสดุ  เทคโนโลยีวิศวกรรม  เทคโนโลยีอาหาร  นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม  เภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน  และอุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น
3. ศูนย์ข้อมูล  (data center)
ศูนย์ข้อมูลทำหน้าที่รับผิดชอบการผลิตหรือรวบรวมข้อมูล ตัวเลข  จัดระบบและเผยแพร่สู่ผู้ใช้ที่อยู่ในเป้าหมาย  มักเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน  เช่น  ศูนย์ข้อมูลธนาคารกรุงเทพ     ศูนย์ข้อมูลธุรกิจหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย   ศูนย์ข้อมูลพลังงานแห่งประเทศไทย  สังกัดสำนักงานพลังงานแห่งชาติ  เป็นต้น
4. หน่วยงานทะเบียนสถิติ  (statistical office)
หน่วยทะเบียนสถิติเป็นศูนย์กลางรวบรวมหลักฐานการจดทะเบียนหรือ         ลงทะเบียน  และรวบรวมสถิติที่เกี่ยวข้อง    อาจเป็นหน่วยงานที่สังกัดอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม เพื่อรวบรวมสถิติเฉพาะภายในหน่วยงาน เช่น หน่วยเวชระเบียนของโรงพยาบาลต่าง ๆ    กองการทะเบียนของกรมการปกครอง    ศูนย์สถิติการพาณิชย์ของ กระทรวงพาณิชย์    และสำนักงานสถิติแห่งชาติ  เป็นต้น
5. ศูนย์วิเคราะห์สารสนเทศ  (information analysis center)
ศูนย์วิเคราะห์สารสนเทศให้บริการสารสนเทศเฉพาะสาขาวิชา  โดยนำมาคัดเลือก   วิเคราะห์    สรุปย่อและจัดเก็บในลักษณะของแฟ้มข้อมูล  ใบข้อมูล  (sheet)  และปริทัศน์ (review)  เพื่อใช้ในการตอบคำถามและจัดส่งให้กับผู้ที่สนใจในรูปของบริการข่าวสารทันสมัย      เนื่องจากกระบวนการทำงานของศูนย์วิเคราะห์สารสนเทศ  ต้องมีการวิเคราะห์และประเมินสารสนเทศ  ผู้ปฏิบัติงานนี้จึงต้องมีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน ส่วนใหญ่จึงมักประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์  และนักวิชาการ  ตัวอย่างของ ศูนย์วิเคราะห์สารสนเทศ  เช่น สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นต้น
6. ศูนย์ประมวลและแจกจ่ายสารสนเทศ (information clearing house)
ศูนย์ประมวลและแจกจ่ายสารสนเทศทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งสารสนเทศ  แนะนำแหล่งสารสนเทศ (referral service)  ที่เหมาะสม  หรือทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศแล้วแจกจ่ายไปยังผู้ที่ต้องการ   โดยการจัดทำสหบัตรรายการค้น บรรณานุกรม  ดัชนีและสาระสังเขป   และรายชื่อเอกสารที่ศูนย์ทำหน้าที่ประสานการแจกจ่าย  ได้แก่  ห้องสมุดยูเนสโก   หอสมุดแห่งชาติประเทศอังกฤษ  (British Library)  หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress)   และหอสมุดแห่งชาติของไทย  เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยมีศูนย์ประสานงานเครือข่ายระบบสารนิเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค  มีสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเป็นหน่วยประสานงาน     โดยยูเนสโก (UNESCO) เป็นผู้จัดตั้งข่ายงานทั้งสองในระดับภูมิภาคเรียกว่า ASTINFO  และ APINESS
“ASTINFO” ย่อมาจาก Regional Network for the Exchange of Information and Experiences in  Science and Technology in Asia and Pacific มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า “ข่ายงานภูมิภาคเพื่อการแลกเปลี่ยนสารนิเทศและประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาคพื้นเอเซียและแปซิฟิค”  ประกอบด้วยสมาชิก 12 ประเทศ คือ ศรีลังกา อินเดีย ฟิลิปปินส์ อิหร่าน จีน เกาหลี เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์  เนปาล และประเทศไทย จัดตั้งเครือข่ายงานขึ้นเมื่อปี 2527 โดยมีสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ  6 ศูนย์ คือ สถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักหอสมุดเกษตรศาสตร์   สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล   กองหอสมุดแห่งชาติ ศูนย์บริการเอกสารการวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
“APINESS” ย่อมาจาก Asia-Pacific Information Network in Social Sciences มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า  ข่ายงานสารนิเทศด้านสังคมศาสตร์ระดับภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิค มีสมาชิก 17 ประเทศ โดย 12 ประเทศจาก   ASTINFO จัดตั้งข่ายงานขึ้นเมื่อปี 2531 โดย ประกอบด้วยศูนย์สมทบทั้ง 6 ของ ASTINFO และหน่วยงานอื่นอีก 4 แห่ง คือ ห้องสมุดและศูนย์สารนิเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย,สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหอสมุดจอห์น เอฟ เคเนดี้   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ทั้งสองข่ายงานข้างต้น  มีภารกิจในการให้บริการข้อสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสังคมศาสตร์ในข่ายงานฯ  พิจารณาขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรในข่ายงานฯ จัดดำเนินการฝึกอบรมและสัมมนาระบบสารนิเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสังคมศาสตร์   จัดดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย   เช่นจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)   องค์การอนามัยโลก (WHO) และยูเนสโก ที่เกี่ยวกับ ASTINFO และ APINESS
7. ศูนย์แนะแหล่งสารสนเทศ  (referral centers)  
ศูนย์แนะแหล่งสารสนเทศ  ทำหน้าที่รวบรวมแหล่งข้อมูลและแหล่งสารสนเทศ  โดยจัดทำเป็นคู่มือ   หรือรายการบรรณานุกรมและดัชนี  เพื่อให้คำแนะนำแหล่งข้อมูลสารสนเทศที่เหมาะสมตามที่ผู้ใช้ต้องการ  ส่วนใหญ่จะแนะแหล่งสารสนเทศเฉพาะสาขาวิชา  เช่น ศูนย์แนะแหล่งสารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน    ศูนย์แนะแหล่งสารสนเทศสิ่งแวดล้อมนานาชาติ  เป็นต้น  (ศรีสุภา  นาคธน, 2548)
8. หน่วยงานจดหมายเหตุ  (archive)
หน่วยงานจดหมายเหตุ  ทำหน้าที่รวบรวมและอนุรักษ์เอกสารราชการ  และเอกสารทางประวัติศาสตร์ ได้แก่  คำสั่ง ระเบียบ  ข้อบังคับ  บันทึก  หนังสือโต้ตอบ  รายงาน  แผนที่  ภาพถ่าย  แบบแปลน  เพื่อเป็นหลักฐานการดำเนินงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน    ใช้เป็นแหล่งค้นคว้าอ้างอิงทั้งเพื่อการปฏิบัติงานและค้นคว้าทางวิชาการ  ตัวอย่างเช่นหอจดหมายเหตุแห่งชาติ   หอจดหมายเหตุส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น  หอจดหมายเหตุของสถาบันทางศาสนา  หอจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัย  และหอจดหมายเหตุของสถาบันธุรกิจและอุตสาหกรรม  เป็นต้น
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ   มีฐานะเป็นสำนักหนึ่งในกรมศิลปากรกระทรวงวัฒนธรรม     จัดตั้งเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2495   มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บและบำรุงรักษาเอกสารทางราชการที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ที่มีอายุเกิน 25 ปี และรูปถ่ายไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า     ให้บริการค้นคว้าเอกสารจดหมายเหตุประเภทต่าง ๆ เช่น เอกสารโต้ตอบของส่วนราชการ   เอกสารส่วนบุคคล   เอกสารประวัติศาสตร์ร่วมสมัยทั้งที่เป็นเอกสารประเภทลายลักษณ์และประเภทไมโครฟิล์มรวม    ทั้งบริการเอกสารประเภทโสตทัศนจดหมายเหตุ เช่น   ภาพถ่าย   แผนที่   แผนผัง   แบบแปลน    สไลด์   ซีดี   แถบบันทึกเสียง เป็นต้น
ปัจจุบันหอจดหมายเหตุแห่งชาติตั้งอยู่ด้านหลังอาคารหอสมุดแห่งชาติ  ที่ท่าวาสุกรี    ถนนสามเสน   เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร    และมีหอจดหมายเหตุแห่งชาติสาขาในต่างจังหวัด  ได้แก่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่จังหวัดเชียงใหม่  ตรัง  ยะลา  และสงขลา    หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พะเยา และอุบลราชธานี    หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี   หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดจันทบุรี    หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จังหวัดนครศรีธรรมราช   หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี    หอเกียรติยศ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี คนที่ ๒๑ จังหวัดสุพรรณบุรี
9. สถาบันบริการสารสนเทศเชิงพาณิชย์  (commercial information service center)
สถาบันบริการสารสนเทศเชิงพาณิชย์ให้บริการสารสนเทศโดยคิดค่าบริการ สถาบันบริการสารสนเทศเชิงพาณิชย์มีหลายรูปแบบได้แก่
 ศูนย์บริการสารสนเทศทันสมัย (current awareness services)      ให้บริการเลือกสรรสารสนเทศเฉพาะบุคคล  (selective dissemination of information service : SDI)       โดยจัดส่งรายการทางบรรณานุกรม   ดรรชนีและสาระสังเขปให้สมาชิกหรือผู้ใช้บริการได้ตรวจสอบ    ส่วนการเข้าถึงตัวเอกสาร    จำเป็นต้องพึ่งพาห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ   ความสำเร็จของศูนย์บริการสารสนเทศทันสมัยจึงอยู่ที่การมีห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศที่ดีสนับสนุนอยู่เบื้องหลังด้วย
สำนักงานติดต่อและให้คำปรึกษาทางสารสนเทศ  (extension services–liason and advisory)  ให้คำปรึกษาด้านการใช้สารสนเทศในสาขาเกษตร   อุตสาหกรรมและกิจการบริการสาธารณะอื่น ๆ   หรือแนะนำแหล่งที่จะให้ความช่วยเหลือในการดำเนินกิจการ   บริการนี้จึงมักเชื่อมโยงกับทางอุตสาหกรรมเป็นหลัก 
ศูนย์บริการสาระสังเขปและดรรชนี (abstract and index services)  ให้บริการฐานข้อมูลสาระสังเขปและดรรชนีวารสารทางวิชาการและสิ่งพิมพ์อื่น ๆ  ส่วนใหญ่ห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศบอกรับเป็นสมาชิก  สามารถสืบค้นในระบบออฟไลน์ (offline system) ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ประเภทวัสดุย่อส่วน ซีดีรอม และระบบออนไลน์ (online system) ผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น  สาระสังเขปวิทยานิพนธ์  (Dissertation Abstracts International) ของบริษัท  University Microfilm     สาระสังเขปและดรรชนี  Biological Abstracts  และ  Bioresearch Index  จัดทำโดย  บริษัทไบโอสิส  (BIOSIS)  เป็นต้น
10.   เครือข่ายบริการสารสนเทศ (information services network)  
เครือข่ายบริการสารสนเทศเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มสถาบันบริการสารสนเทศ  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านการบริการทางบรรณานุกรม  ได้แก่  การทำบัตรรายการ  การพัฒนาทรัพยากร  การยืมระหว่างห้องสมุด  และการบริการฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์  เช่น เครือข่ายยูนิเน็ต (UniNet)
เครือข่ายยูนิเน็ตจัดดำเนินการโดยสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา  ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา  มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน  ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่มีชื่อย่อว่า “ThaiLIS” (Thai Library Integrated System)   โดยเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างห้องสมุดมหาวิทยาลัยและสถาบันจำนวน 24 แห่ง   ให้สามารถใช้งานผ่านเครือข่ายยูนิเน็ต    มีสารสนเทศที่ให้บริการในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้
ฐานข้อมูลสหบรรณานุกรม  (union catalog)  เป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมรายการบรรณานุกรมทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดมหาวิทยาลัยและสถาบัน 24 แห่ง   ปัจจุบันมีข้อมูลบรรณานุกรมจำนวนกว่า 2 ล้านระเบียน  เข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://uc.thailis.or.th   
ฐานข้อมูลจัดเก็บเอกสารฉบับเต็ม  (digital collection)  เป็นฐานข้อมูลที่จัดเก็บและแสดงเอกสารฉบับเต็ม (full text)  พร้อมภาพ  ให้บริการข้อมูลวิทยานิพนธ์  งานวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย  และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างห้องสมุดมหาวิทยาลัยกว่า 70 แห่ง  ปัจจุบันมีเอกสารอิเล็กทรอนิกส์  จำนวนกว่า  50,000 รายการ  เข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์   http://dcms.thailis.or.th/index.php   
ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสืบค้น (reference database)  เป็นบริการสืบค้นข้อมูลออนไลน์ต่างประเทศ จำนวน 7 ฐานได้แก่     Science Direct,  IEEE/IEE Electronic Library (IEL),  ProQuest Dissertations,  ACM Digital Library,  Lixis.com and Nexis.com,  H.W.Wilson,  ISI Web of Science 
ฐานข้อมูลหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) ให้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ลิขสิทธิ์ของ  SpringerLink จำนวน  1,528  รายการ  เข้าใช้บริการได้ที่ 
URL : http://ebook.SpringerLink.com
ฐานข้อมูลหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) ลิขสิทธิ์ของ NetLibrary จำนวน 5,962 รายการ และหนังสือ Publicly accessible eBooks จำนวน 3,400 รายการ   เข้าใช้บริการได้ที่  URL: http://www.netlibrary.com
ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม (dissertation fulltext)  ให้บริการวิทยานิพนธ์ฉบับเต็มของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในประเทศไทยที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่าย จำนวน 3,850 รายการ   เข้าใช้บริการได้ที่ URL: http://ebook.thailis.or.th

งานบริการสารสนเทศ
สถาบันสารสนเทศเน้นให้บริการสารสนเทศแตกต่างกันไปตามหน้าที่และวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง    ซึ่งพอจะสรุปบริการที่จัดให้โดยทั่วไปได้ดังนี้
1. บริการการอ่าน    เป็นบริการที่สถาบันบริการสารสนเทศจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศในระบบชั้นเปิดและจัดที่นั่งสำหรับอ่านค้นคว้าได้โดยอิสระตามความสนใจของแต่ละบุคคล   พร้อมทั้งจัดทำเครื่องมือช่วยค้นซึ่งอาจจะเป็นบัตรรายการหรือรายการในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศได้โดยสะดวก 
2. บริการบรรณานุกรมและสาระสังเขป  เป็นบริการรวบรวมรายการทรัพยากรสารสนเทศที่มีบริการอยู่ในสถาบัน  หรืออาจรวบรวมเฉพาะเรื่องที่มีผู้สนใจ  หรือรวบรวมตามระยะเวลาที่จัดหาทรัพยากรสารสนเทศใหม่ ๆ  เพื่ออำนวยความสะดวกในการศึกษาค้นคว้า  เช่น  การทำบัตรรายการ  การทำดัชนีวารสาร  บริการโอแพค (OPAC) ของห้องสมุด  และ การจัดทำบรรณานุกรมแห่งชาติประจำปี ของหอสมุดแห่งชาติ  เป็นต้น
3. บริการให้ยืมทรัพยากรสารสนเทศ  เป็นบริการให้ยืมทรัพยากรสารสนเทศออกไปใช้ภายนอกสถาบัน  โดยผู้ใช้บริการจะต้องสมัครเป็นสมาชิกและปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสถาบันบริการสารสนเทศ
4. บริการยืมระหว่างห้องสมุดหรือสถาบัน  เป็นบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกที่ต้องการยืมทรัพยากรสารสนเทศจากสถาบันอื่น โดยสถาบันต้นสังกัดของสมาชิกช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสาน  ซึ่งผู้ใช้บริการต้องเสียค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ค่าถ่ายเอกสาร  ค่าขนส่ง เป็นต้น
5. บริการจองหนังสือหรือบริการหนังสือสำรอง  เป็นบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ทรัพยากรสารสนเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด  แต่มีผู้สนใจต้องการใช้จำนวนมาก  สถาบันบริการสารสนเทศอาจให้บริการจองหนังสือล่วงหน้า  หรืออาจจัดบริการหนังสือสำรองไว้ในสถาบันโดยไม่ให้ยืมออกนอกสถาบันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง  เพื่อให้ได้ใช้บริการอย่างทั่วถึงทุกคน
6. บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า   เป็นบริการให้คำแนะนำและช่วยเหลือผู้ใช้บริการในการค้นคว้าหาข้อมูลต่าง ๆ ที่มีในสถาบัน และแหล่งสารสนเทศอื่น ๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผู้ใช้ต้องการ   
7. บริการแนะนำแหล่งสารสนเทศ  เป็นบริการแนะนำแหล่งหรือสถาบันบริการสารสนเทศ  วิธีการใช้  วิธีการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศ  เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เข้าถึงแหล่งจัดเก็บไว้  ได้อย่างรวดเร็ว  และใช้ประโยชน์ในแหล่งสารสนเทศนั้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 
8. บริการเผยแพร่สารสนเทศและนิทรรศการ  เป็นบริการเผยแพร่สารสนเทศในโอกาสพิเศษต่าง ๆ   เพื่อชักชวนให้เกิดความสนใจการอ่าน และการศึกษาค้นคว้าต่อเนื่อง เช่น การจัดนิทรรศการ  การจัดประชุมอภิปรายทางวิชาการ  การจัดทำจุลสาร วารสารวิชาการ เป็นต้น
9. บริการข่าวสารทันสมัย  เป็นบริการรวบรวม  คัดเลือกและเผยแพร่สารสนเทศใหม่ ๆ แก่สมาชิกหรือผู้ใช้บริการ  เช่น การทำสำเนาบทความจากวารสาร  การทำบรรณานุกรมและสาระสังเขปแล้วส่งให้ผู้ใช้บริการ เป็นต้น
10. บริการถ่ายสำเนาและพิมพ์ผลการค้นข้อมูล  เป็นบริการถ่ายสำเนาเอกสารไปใช้ประโยชน์  เช่น   บริการถ่ายเอกสาร    บริการพิมพ์ผลการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลออนไลน์  อินเทอร์เน็ต  หรือแฟ้มข้อมูล
11. บริการอินเทอร์เน็ต เป็นการให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  เพื่อให้ผู้ค้นคว้าได้ใช้บริการต่าง ๆ เช่น  การสืบค้นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์  การสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์  และการใช้บริการจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ (e –mail)   เป็นต้น

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ     มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา  จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษา อาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัย  รวมทั้งให้บริการสนับสนุนภารกิจของมหาวิทยาลัยในการให้การศึกษาแก่ชุมชนท้องถิ่น มีประวัติความเป็นมา และให้บริการสารสนเทศ ดังนี้
1. ประวัติความเป็นมา
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้พัฒนาปรับปรุงมาตามลำดับดังนี้  (สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ,  2547)
พ.ศ. 2509  จัดตั้งเป็นห้องสมุดโรงเรียนฝึกหัดครูพระนครศรีอยุธยา ที่อาคาร 2 ชั้น 2  และต่อมาได้ต่อเติมอาคารชั้นล่างเป็นที่ตั้งของห้องสมุด    ต่อมาโรงเรียนฝึกหัดครูพระนครศรีอยุธยาได้ยกฐานะเป็นวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา
พ.ศ.2511 โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูได้ย้ายเข้ามาอยู่รวมกับวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา   จึงได้รวมหนังสือของห้องสมุดทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน
พ.ศ. 2512  วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา ได้เปิดสอนนักศึกษาภาคค่ำเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเปิดสอนนักศึกษาภาคปกติ   จึงได้ขยายต่อเติมห้องสมุดออกใน      แนวกว้าง เพื่อให้มีพื้นที่บริการนักศึกษาที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น
พ.ศ. 2515  เริ่มก่อสร้างอาคารหอสมุดเป็นอาคารเอกเทศ 2 ชั้น ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมทั้งค่าครุภัณฑ์เป็นเงินจำนวน 2 ล้านบาท   และตั้งชื่ออาคารว่า “อาคารหอสมุดกลาง”
พ.ศ. 2517  ย้ายห้องสมุดจากอาคาร 2 มาอยู่ที่อาคารหอสมุดกลาง และเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนสิงหาคม เป็นต้นมา
พ.ศ. 2533 ได้เริ่มใช้คอมพิวเตอร์ พัฒนาฐานข้อมูลดรรชนีวารสาร โดยใช้โปรแกรมไมโคร ซีดีเอส/ไอสิส  (Micro CDS/ISIS)  ในการจัดการฐานข้อมูล
พ.ศ. 2534 ได้เริ่มพัฒนาฐานข้อมูลบรรณานุกรมหนังสือขึ้นอีกหนึ่งฐาน    พร้อมทั้งให้บริการสืบค้น OPAC (Online Public Access Catalog) ดรรชนีวารสารและบรรณานุกรมหนังสือจากคอมพิวเตอร์ ควบคู่กับการใช้บัตรรายการ
พ.ศ. 2538  วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาเปลี่ยนฐานะเป็นสถาบันราชภัฏ  และได้เปลี่ยนชื่อหอสมุดกลางเป็น  “สำนักวิทยบริการ” 
พ.ศ. 2540  ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักวิทยบริการหลังใหม่  เป็นอาคารเอกเทศ  4  ชั้น รูปแบบของอาคารได้ปรับเปลี่ยนจากแบบของกองอาคารสถานที่ สำนักงานสถาบันราชภัฏ โดยออกแบบให้มีความสูงไม่เกิน 12  เมตร   ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการสร้างอาคารในพื้นที่โครงการมรดกโลก  ลักษณะอาคารได้เพิ่มพื้นที่ใช้สอยใน     แนวราบมากขึ้น ใช้งบประมาณก่อสร้างจำนวน  33.8  ล้านบาท  และค่าวัสดุครุภัณฑ์ประจำอาคารจำนวน  12  ล้านบาท
พ.ศ. 2543   เริ่มใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ โดยใช้โปรแกรม วีทีแอลเอส (Visionary Technology  in Library Solutions : VTLS)   เข้ามาจัดการฐานข้อมูลแทนโปรแกรม  Micro CDS/ISIS   และได้พัฒนางานบริการ ยืมคืนสิ่งพิมพ์  เป็นระบบยืมคืน ที่ควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้พัฒนาฐานข้อมูลบรรณานุกรมหนังสือ  ให้สามารถสืบค้นหนังสือของสำนักวิทยบริการผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ และปลายปีเดียวกันนี้ได้เริ่มเปิดใช้อาคารสำนักวิทยบริการหลังใหม่ โดยมีการเชื่อมโยงอาคารใหม่เข้ากับอาคารเดิม ทำให้มีพื้นที่บริการและพื้นที่ใช้สอยได้เต็มตามมาตรฐานห้องสมุดระดับอุดมศึกษา และสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจและบทบาทของสำนักวิทยบริการ บริการ สถาบัน ชุมชน และท้องถิ่นได้ตามวัตถุประสงค์
พ.ศ. 2545 ได้จัดบริการข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดบริการห้องอยุธยาศึกษา  พร้อมฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อยุธยาศึกษา  ซึ่งสามามารถสืบค้นได้จากผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
พ.ศ. 2546  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาส           ราชนครินทร์  ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณประทานนามอาคารหลังใหม่เป็น “อาคาร           บรรณราชนครินทร์”  
พ.ศ. 2548  สถาบันราชภัฏเปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัย  และจัดรวมสำนักวิทยบริการเข้ากับสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ   จัดตั้งเป็น  สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  จนถึงปัจจุบัน
2.  ระเบียบการใช้บริการ
ในการใช้บริการของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ   ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อปฏิบัติดังนี้  (คู่มือการใช้บริการสำนักวิทยบริการ,  2547)  
2.1 ผู้มีสิทธิ์เข้าใช้บริการได้แก่ อาจารย์ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาปัจจุบัน และนักเรียนโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาโดยแสดงบัตรประจำตัวนักศึกษาหรือบัตรสมาชิก   ส่วนนักศึกษาใหม่ที่ยังไม่ได้ทำบัตรประจำตัว       นักศึกษาหรือบัตรสมาชิกให้นำใบเสร็จรับเงินค่าลงทะเบียนมาแสดงเพื่อขอเข้าใช้บริการสำนักวิทยบริการทุกครั้งก่อนเข้าใช้บริการ
2.2 บุคคลภายนอกที่ประสงค์จะเข้าใช้บริการต้องได้รับอนุญาตจากบรรณารักษ์และเสียค่าบริการครั้งละ  20  บาท นักเรียนเสียค่าบริการครั้งละ 10 บาท
2.3 แต่งกายสุภาพ นักศึกษาภาคปกติต้องแต่งเครื่องแบบในวันเวลาราชการ
2.4 ไม่อนุญาตให้นำกระเป๋าหรือถุงและเครื่องมือในการตัดกระดาษทุกชนิด เข้ามาในสำนักวิทยบริการ
2.5 เก็บสิ่งของไว้ในตู้รับฝากของ  ยกเว้นของมีค่าโดยติดต่อขอใช้บริการกับเจ้าหน้าที่รับฝากของ
2.6 ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดเข้าไปในบริเวณสำนักวิทยบริการ
2.7 ไม่ส่งเสียง หรือสนทนากันเสียงดังรบกวนผู้อื่น
2.8 งดใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ
2.9 ห้ามฉีก ตัด ลักขโมยหนังสือ  มิฉะนั้นจะดำเนินการตามกฎหมาย  และพ้นจากสภาพการเป็นนักศึกษา
2.10 หนังสือที่อ่านแล้วให้นำไปวางที่โต๊ะกลางที่จัดไว้ให้  ไม่ต้องนำหนังสือไปเก็บที่ชั้นด้วยตนเอง
2.11 วารสารและหนังสือพิมพ์ที่อ่านแล้ว โปรดนำไปเก็บไว้ที่จัดไว้ให้ไม่วาง  ทิ้งไว้ตามโต๊ะหรือเก้าอี้
2.12 บัตรสมาชิกใช้เฉพาะเจ้าของบัตรเท่านั้น
2.13 ก่อนออกจากสำนักวิทยบริการ ต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจหนังสือและสิ่งของทุกครั้ง
2.14 ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ และคำตักเตือนของบรรณารักษ์หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักวิทยบริการโดยเคร่งครัด
3.  บริการของสำนักวิทยบริการ
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  จัดให้บริการสารสนเทศ ดังนี้
3.1 บริการยืมคืนหนังสือ   ผู้ใช้บริการสามารถยืมหนังสือได้ที่เคาน์เตอร์ยืมคืนหนังสือ   บริเวณชั้นที่ 1   อาคารอาคารบรรณราชนครินทร์ ซึ่งมีระเบียบและวิธีปฏิบัติดังนี้
3.1.1 ระเบียบการยืม  ปฏิบัติดังนี้
อาจารย์สามารถยืมได้ 20 เล่ม กำหนดส่งภายใน 1 ภาคเรียน
นักศึกษาระดับปริญญาตรียืมได้ 7 เล่ม กำหนดส่งภายใน 7 วัน
นักศึกษาระดับปริญญาโทยืมได้ 10 เล่มกำหนดส่งภายใน 7 วัน
3.1.2 การทำบัตรยืม   ติดต่อขอทำบัตรได้ที่เคาน์เตอร์บริการยืมคืน  โดยใช้รูปถ่ายขนาด 1 นิ้วจำนวน 2 รูป    ใบเสร็จรับเงินการลงทะเบียนในภาคเรียนนั้น  หรือสำเนาใบรับฝากเงินค่าลงทะเบียนของธนาคาร  และบัตรประจำตัวประชาชน
บัตรยืมจะมีระยะเวลาการใช้งานได้  1 ภาคเรียน สำหรับนักศึกษาภาคพิเศษ (กศ.บป.)  และ 1 ปีการศึกษาสำหรับนักศึกษาภาคปกติ  ในการต่ออายุบัตรให้นำบัตรยืมเดิม  พร้อมด้วยใบเสร็จรับเงินการลงทะเบียนของภาคเรียนต่อไปมาแสดงเป็นหลักฐานในการต่ออายุบัตร    ในกรณีที่บัตรสูญหาย และประสงค์จะทำบัตรใหม่ให้นำรูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป   เงินค่าธรรมเนียม 10 บาท  และเขียนใบคำร้องขอทำบัตรใหม่ได้ที่เจ้าหน้าที่บริการยืมคืน 
3.1.3 วิธีปฏิบัติในการเสียค่าปรับ ปฏิบัติดังนี้
กรณีที่นักศึกษาส่งคืนหนังสือทุกประเภทเกินกำหนดเวลา   นักศึกษา   จะต้องชำระเงินค่าปรับในอัตราวันละ 5 บาทต่อ 1 เล่ม
กรณีหนังสือหาย ผู้ทำหนังสือหายต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ยืมคืนก่อนถึงวันกำหนดส่ง   และต้องชำระค่าหนังสือเป็นสองเท่าของราคาที่ปรากฏในทะเบียน หรือราคาที่มีจำหน่ายในท้องตลาด  พร้อมด้วยค่าดำเนินการด้านเทคนิคอีกเล่มละ  60  บาท  ในกรณีที่แจ้งหายภายหลังวันกำหนดส่ง  ต้องชำระค่าปรับการยืมหนังสือเกินกำหนดเวลาเพิ่มอีกวันละ  5 บาทต่อ 1 เล่ม
3.2 บริการตู้เก็บสิ่งของ  เนื่องจากสำนักวิทยบริการไม่อนุญาตให้นำกระเป๋าเข้าไปภายในห้องสมุด    ผู้ใช้บริการต้องเก็บกระเป๋าส่วนตัวไว้ที่ตู้เก็บสิ่งของ โดยใช้บัตรยืมของห้องสมุดหรือบัตรประจำตัวนักศึกษาเป็นหลักฐานขอรับกุญแจตู้เก็บสิ่งของบริเวณหน้าห้องสมุด   ตู้เก็บสิ่งของจะให้บริการเฉพาะผู้เข้าใช้บริการในสำนักวิทยบริการเท่านั้น  สิ่งของมีค่าเช่น โทรศัพท์มือถือ  เครื่องประดับ  ฯลฯ  ให้นำติดตัวไปด้วยไม่ควรเก็บสิ่งของมีค่าไว้ในตู้เก็บสิ่งของ  หากสูญหายทางสำนักวิทยบริการจะไม่รับผิดชอบ
3.3 บริการวารสารและสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง ให้บริการสิ่งพิมพ์ต่อเนื่องทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับล่วงเวลา ได้แก่ วารสาร  นิตยสาร  หนังสือพิมพ์  จุลสาร  กฤตภาค จดหมายข่าว  สยามจดหมายเหตุ  ราชกิจจานุเบกษา 
การขอใช้บริการวารสารและหนังสือพิมพ์ฉบับล่วงเวลา   ผู้ขอใช้บริการต้องนำบัตรยืมหรือบัตรประจำตัวนักศึกษาแสดงกับเจ้าหน้าที่   และเขียนรายการวารสารหรือหนังสือพิมพ์ที่ขอใช้ในแบบฟอร์ม   ไม่อนุญาตให้นำทรัพยากรสารสนเทศในฝ่ายสิ่งพิมพ์ต่อเนื่องทุกชนิดออกนอกห้องบริการ
3.4 บริการเทคโนโลยีทางการศึกษา  ให้บริการสารสนเทศในรูปแบบของ วีดิโอ  ซีดี  ซีดีรอม  วีซีดี  ดีวีดี  เทปเสียง  สไลด์  โทรทัศน์  เคเบิ้ลทีวี  ทั้งเป็นรายบุคคลและกลุ่มย่อย    นอกจากนี้ยังมีบริการรายการโทรทัศน์ภายในมหาวิทยาลัย (cable television)  ในชื่อสถานีโทรทัศน์ เออาร์ยู  (ARU)   เพื่อการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์  และเพื่อการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัยแก่อาจารย์และนักศึกษา
การใช้บริการเทคโนโลยีทางการศึกษา  ผู้เข้าใช้บริการต้องแสดงบัตรห้องสมุดหรือบัตรประจำตัวนักศึกษาก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง   ขอใช้วีดิทัศน์ได้ครั้งละ 1 รายการ  และยืมหูฟังได้ครั้งละ 1 ชุด/ 1 คน   ไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์หรือ     โสตทัศนวัสดุที่ไม่ใช่ของสำนักวิทยบริการเข้ามาใช้   หากต้องการใช้บริการต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่เป็นกรณีพิเศษ 
3.5 บริการอินเทอร์เน็ต  ให้บริการอินเทอร์เน็ตเฉพาะสมาชิกของสำนักวิทยบริการเท่านั้น  ผู้ใช้บริการต้องแสดงบัตรห้องสมุดหรือบัตรนักศึกษาก่อนเข้าใช้บริการ  สมาชิกใช้บริการได้ครั้งละ  1  ชั่วโมง  ในกรณีที่ต้องการขอเพิ่มเวลาต้องติดต่อขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่
3.6 บริการฐานข้อมูลอีเล็กทรอนิกส์  ให้บริการฐานข้อมูลที่ห้องสมุดเป็นสมาชิกบอกรับและฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาผ่านทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย   ซึ่งเข้าใช้ได้ที่   URL : http://www.aru.ac.th   
ฐานข้อมูลอีเล็กทรอนิกส์ที่มีให้บริการได้แก่  TIAC,   ERIC,  Science Direct,  IEEE/IEE Electronic Library (IEL),  ProQuest Dissertations,  ACM Digital Library,  Lixis.com and Nexis.com,  H.W.Wilson,  ISI Web of Science,  SpringerLink
3.7 บริการถ่ายสำเนาและพิมพ์ผลการค้นข้อมูล  มีอัตราค่าบริการดังนี้
ถ่ายเอกสารสิ่งพิมพ์    ค่าบริการแผ่นละ   50  สตางค์     พิมพ์ผลการสืบค้นด้วยเครื่องเลเซอร์  แผ่นละ 2 บาท    สำเนาสแกนภาพ (scaning)  ลงแผ่นซีดีรอม รูปละ 10 บาท

สรุป
แหล่งสารสนเทศ หมายถึงแหล่งที่ให้บริการสารสนเทศ  ซึ่งอาจเป็นบุคคล  สื่อมวลชน และสถาบันบริการสารสนเทศ   ประเภทแหล่งสารสนเทศแบ่งตามลำดับการผลิตได้เป็น  3  ประเภทคือ   สารสนเทศปฐมภูมิ สารสนเทศทุติยภูมิ  สารสนเทศตติยภูมิ ในการอ้างอิงทางวิชาการถือว่าสารสนเทศจากแหล่งปฐมภูมิเป็นสารสนเทศที่ดี  มีความน่าเชื่อถือในเรื่องความถูกต้องตามข้อเท็จจริงมากกว่าสารสนเทศในลำดับรอง
สถาบันบริการสารสนเทศ  ให้บริการสารสนเทศแตกต่างกันตามขอบเขต   หน้าที่และวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง มีหลายประเภทได้แก่ ห้องสมุดหรือหอสมุดจะเน้นจัดเก็บและจัดบริการผู้ใช้ด้านการอ่านและการยืมสารสนเทศ    ศูนย์สารสนเทศหรือศูนย์เอกสารจะเน้นให้บริการสารสนเทศเฉพาะสาขาวิชา ทำการผลิตและเผยแพร่สารสนเทศใหม่ ๆ   ศูนย์ข้อมูลจะเน้นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นข้อมูลสถิติ ตัวเลข และการเผยแพร่ข้อมูลแก่สมาชิก   หน่วยงานทะเบียนสถิติเป็นศูนย์กลางรวบรวมหลักฐานการจดทะเบียนและสถิติที่เกี่ยวข้อง    ศูนย์วิเคราะห์สารสนเทศให้บริการข่าวสารทันสมัยเฉพาะสาขาวิชาในลักษณะของแฟ้มข้อมูล  บทความปริทัศน์  และจัดส่งให้สมาชิกที่สนใจ   ศูนย์ประมวลและแจกจ่ายสารสนเทศจะเน้นบริการความช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งสารสนเทศ  หน่วยงานจดหมายเหตุเน้นให้บริการเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งที่เป็นเอกสารสำคัญของทางราชการและส่วนบุคคล  ภาพถ่าย  แผนที่ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีสถาบันบริการสารสนเทศเชิงพาณิชย์ที่ให้บริการโดยคิดค่าบริการ  ซึ่งให้บริการในหลายรูปแบบ เช่น ศูนย์บริการสารสนเทศทันสมัย (current awareness services)      สำนักงานติดต่อและให้คำปรึกษาทางสารสนเทศ   ศูนย์บริการสาระสังเขปและดรรชนี เป็นต้น
ในปัจจุบัน สถาบันหลายแห่งได้ร่วมกันเป็นเครือข่ายบริการสารสนเทศ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน   เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน  และให้บริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่น เครือข่ายห้องสมุดในประเทศไทย (ThaiLIS)   
บริการสารสนเทศ  ที่สถาบันบริการสารสนเทศจัดให้โดยทั่วไป ได้แก่ บริการการอ่าน  บริการบรรณานุกรมและสาระสังเขป  บริการยืมทรัพยากร  บริการยืมระหว่างสถาบัน    บริการจองหนังสือ  บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า   บริการแนะนำแหล่งสารสนเทศ  บริการเผยแพร่สารสนเทศและนิทรรศการ  บริการข่าวสารทันสมัย  บริการถ่ายสำเนาและพิมพ์ผลการค้นข้อมูล   บริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น 
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ     มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาที่ให้บริการสารสนเทศเช่นเดียวกับสถาบันบริการสารสนเทศทั่วไป  แต่มีระเบียบข้อกำหนดที่นักศึกษาและผู้ใช้บริการต้องปฏิบัติเป็นการเฉพาะ  ดังนั้นผู้ใช้บริการควรทำความเข้าใจก่อนเข้าใช้บริการ

คำถามท้ายบท
1. แหล่งสารสนเทศมีกี่ประเภท  อะไรบ้างจงอธิบาย
2. ห้องสมุดแบ่งเป็นกี่ประเภทอะไรบ้าง แต่ละประเภทมีจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ต่างกันอย่างไร
3. ศูนย์สารสนเทศมีลักษณะอย่างไร มีความคล้ายคลึงกับห้องสมุดประเภทใด
4. ศูนย์สารสนเทศ  ศูนย์ข้อมูล  และศูนย์วิเคราะห์สารสนเทศ  มีความคล้ายคลึงและความแตกต่างอย่างไร  จงอธิบาย
5. หอจดหมายเหตุให้บริการสารสนเทศประเภทใดบ้าง  จงอธิบาย
6. สถาบันบริการสารสนเทศเชิงพาณิชย์ คืออะไร  ให้บริการสารสนเทศอะไรบ้าง จงอธิบาย
7. เครือข่ายยูนิเน็ต (UniNet)  ให้บริการสารสนเทศอะไรบ้าง จงอธิบาย
8. บริการสารสนเทศที่มีความสำคัญและมีประโยชนต่อการศึกษาค้นคว้า มีอะไรบ้าง  จงอธิบายมาอย่างน้อย  5  บริการ
9. ระเบียบการใช้บริการของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยามีอะไรบ้าง จงอธิบายมาอย่างน้อย 5 ข้อ 
10. สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา  มีบริการสารสนเทศอะไรบ้าง  จงอธิบาย
11. ทรัพยากรสารสนเทศประเภทใดบ้างที่มีให้บริการในแต่ละชั้นของสำนักวิทยบริการ
12. ทรัพยากรสารสนเทศประเภทใดบ้างที่สำนักวิทยบริการฯไม่ให้ยืมออกไปใช้ภายนอก
 
เอกสารอ้างอิง

คู่มือการใช้บริการสำนักวิทยบริการ.  (2547).  พระนครศรีอยุธยา : สำนักวิทยบริการมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.

ชุติมา  สัจจานันท์.  (2531).  การเลือกและการจัดหาวัสดุห้องสมุด.  กรุงเทพฯ :
หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู. 

ศรีสุภา  นาคธน.  (2548).  สารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์และการค้นคืน.  ลพบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี.

สำนักวิทยบริการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.  (2547).   รายงานประจำปี 2546 : สำนักวิทยบริการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.  พระนครศรีอยุธยา : สำนักฯ.
 

ใส่ความเห็น